เปิดเมื่อ | | | Jul 29, 2010 |
เวลา | | | at 14:12 |
วัน | | | 33 |
เมื่อวาน | | | 300 |
เดือน | | | 82921 |
ปี | | | 24294 |
หม้อห้อม เป็นคำในภาษาพื้นเมืองภาคเหนือ มาจากการรวมคำ 2 คำคือคำว่า หม้อ และคำว่า ห้อม เข้าด้วยกัน โดยหม้อเป็นภาชนะชนิดหนึ่งที่ใช้บรรจุน้ำหรือของเหลวต่างๆ ที่มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ส่วนห้อมนั้นเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง ที่ชาวบ้านนำเอาลำต้นและใบมาหมักในน้ำตามกรรมวิธีที่สืบทอดมากันตั้งแต่โบราณ จะทำให้น้ำเป็นสีกรมท่าและได้สีที่จะนำมาใช้ในการย้อมผ้าขาว ให้เป็นผ้าสีกรมท่า ที่เรียกกันว่า ผ้าหม้อห้อม แต่ภายหลังเขียนเพี้ยนเป็น ม่อฮ่อม หรือ ม่อห้อม หรือ หม้อฮ่อม หรือ ม่อฮ่อม ม่อฮ้อม ต่างๆ นาๆ กันไป ผ้าหม้อห้อม เป็นชื่อผ้าย้อมพื้นเมืองสีกรมท่าที่สร้างชื่อเสียงให้กับเมืองแพร่มานานแล้ว ในอดีตผ้าหม้อห้อมเป็นผ้าฝ้ายทอมือ ที่นำดอกฝ้ายขาวมาทำเป็นเส้นด้าย แล้วทอด้วยกี่เป็นผ้าพื้นสีขาว หลังจากนั้นจึงนำไปตัดเย็บให้เป็นเสื้อผ้า แล้วนำมาย้อมในน้ำห้อมที่ได้จากการหมักต้นห้อมไว้ในหม้อ ในปัจจุบันมีการทอผ้าด้วยกี่แบบพื้นเมืองน้อยลงทำให้ผ้าทอราคาแพง ในการตัดเย็บผ้าหม้อห้อมในปัจจุบันจึงมีการใช้ผ้าดิบตัดเย็บ แล้วย้อมด้วยน้ำห้อมธรรมชาติหรือสีหม้อห้อมวิทยาศาสตร์ ผ้าหม้อห้อมเป็นสิ่งหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาวเมืองแพร่ ซึ่งจะเห็นได้จากชุดแต่งกายของชาวเมืองแพร่จะนิยมสวมใส่เสื้อผ้าหม้อห้อม โดยการแต่งกายของชายนั้นนิยมสวมเสื้อหม้อห้อมคอกลม แขนสั้น ผ่าอกติดกระดุมหรือใช้สายมัด ลักษณะคล้ายเสื้อกุยเฮงของชาวจีน และกางเกงหม้อห้อมขาก๊วย ใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว ส่วนการแต่งกายพื้นเมือ งของผู้หญิงเป็นเสื้อผ้าหม้อห้อมคอกลม แขนยาวทรงกระบอก ผ่าอกติดกระดุมและสวมผ้าถุง ที่มีชื่อว่า ซิ่นแหล้ ซึ่งเป็นพื้นสีดำมีสีแดงคาดบริเวณชายผ้า ชาวพื้นเมืองภาคเหนือตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนิยมใช้เสื้อผ้าหม้อห้อมที่มาจากเมืองแพร่ และถ้าพูดถึงหม้อห้อมจะต้องเป็นผ้าหม้อห้อมที่มาจากเมืองแพร่เท่านั้น ชื่อเสียงของผ้าหม้อห้อมของชาวเมืองแพร่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ทั้งนี้เนื่องจากคุณภาพ ความคงทนของ เนื้อผ้า และสีห้อมที่ใช้ย้อมผ้า ในปัจจุบันแหล่งผลิตผ้าหม้อห้อมที่บ้านทุ่งโฮ้ง อำเภอเมืองแพร่เป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุด และมีชื่อเสียงที่สุด